การเปิดโอกาสให้เกิดการมีส่วนร่วม ปีงบประมาณ 2567
สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 โดย พรบ.ดังกล่าว ได้จัดตั้ง กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ตามมาตรา 5 คือมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในกรณีที่เกิดวิกฤตด้านน้ำมันเชื้อเพลิง ส่งผลให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไม่สามารถจ่ายเงินชดเชยให้แก่น้ำมันเชื้อเพลิงที่่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพต่อไปได้ อย่างไรก็ตามมาตรา 55 ในบทเฉพาะกาล กำหนดว่า ในกรณีที่มีการจ่ายเงินชดเชยให้แก่น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อการดำเนินการดังกล่าวต่อไปได้เป็นระยะเวลาสามปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ทั้งนี้ ให้นำความในหมวด 4 การดำเนินงานของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและหมวด 7 บทกำหนดโทษ ที่เกี่ยวข้อง มาใช้บังคับกับการดำเนินการนี้ด้วย
ในปีงบประมาณ 2567 สกนช. ได้ลงพื้นที่เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียและบุคคลภายนอกได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ของเชื้อเพลิงชีวภาพปาล์มน้ำมัน ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช และชุมชนแปลงใหญ่ปาล์ม จ.ตรัง เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2567
(1) ประเด็นหรือเรื่องในการมีส่วนร่วม
เรื่อง สถานการณ์น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพและทิศทางการปรับตัว
สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เร่งศึกษาศักยภาพของเชื้อเพลิงชีวภาพปาล์มน้ำมันรองรับการลดการชดเชยจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ลงพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช และจ.ตรัง รับฟังผลงานวิจัยเพื่อพัฒนาเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนผลิตน้ำมันปาล์มแดงธรรมชาติ มหาวิทยาลัยลักษณ์ และเยี่ยมชมวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ปาล์มนำ้มัน จ.ตรัง ที่ต่อยอดผลวิจัยผลิตน้ำมันปาล์มแดงสู่ผลิตภัณฑ์หลากหลายรับกระแสสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม
นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ระบุว่า สกนช.ได้นำคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงศึกษาดูงานเกี่ยวกับการวิจัยการผลิตน้ำมันปาล์ฒแดงบริสุทธิ์เพื่อพัฒนาเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนและ SMEs ผลิตน้ำมันปาล์มแดงธรรมชาติ และการสร้างเศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็งของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช และมีการต่อยอดเป็นรูปธรรมไปสู่กลุ่มผู้ผลิตปาล์ม วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่น้ำมัน จังหวัดตรัง ซึ่งถือเป็นกรณีศึกษาแนวทางการผลิตน้ำมันปาล์มพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายโดยการยกระดับการผลิตด้วยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ทลายข้อจำกัดเรื่องผลผลิตล้นตลาด และยังชี้ให้เห็นทางออกของปาล์มน้ำมันที่มีศํกยภาพในการปรับตัวหากต้องยกเลิกการชดเชยของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 ระบุให้ทยอยลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผลสมของเชื้อเพลิงชีวภาพภายในปี 2565 และได้มีการขยายระยะเวลาลดการชดเชยครั้งแรกออกไปถึงวันที่ 24 กันยายน 2567 ซึ่งกำลังจะหมดระยะเวลาในปีนี้ การลงพื้นที่ศึกษากรณีการปรับตัวของกลุ่มเกษตรกรปาล์มน้ำมันจะนำไปเป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลเสนอต่อคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เพื่อประกอบการพิจารณาถึงข้อดีข้อเสียในการที่จะขยายระยะเวลาหรือยกเลิกการอุดหนุนนำ้มันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยคำนึงถึงทุกภาคส่วนที่จะได้รับผลกระทบดังกล่าว
(2) สรุปข้อมูลของผู้มีส่วนร่วม
รศ.ดร.หมุดตอเล็บ หนิสอ อาจารย์ประจำสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ระบุว่า การวิจัยเพื่อพัฒนาการผลิตน้ำมันปาล์มแดงบริสุทธิ์มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มอย่างมาก ซึ่งแม้ว่าปริมาณการผลิตน้ำมันปาล์มแดงจะช่วยดูดซับปริมาณผลผลิตปาล์มในตลาดได้ไม่ถึง 10% ของปริมาณปาล์มน้ำมันที่ผลิตได้ แต่อาจกล่าวได้ว่าเป็นทางเลือกสามารถช่วยเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มนำ้มันจากวัฏจักรปัญหาราคาปาล์มตกต่ำ โดยการวิจัยเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีไมโครเวฟเพื่อรักษาคุณค่าของผลิตภัณฑ์ และยังลดระยะเวลาการใช้ความร้อนในการอบผลปาล์ม
สำหรับน้ำมันปาล์มแดงเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากผลปาล์มสด มีคุณสมบัติโดดเด่นที่ส่งผลดีต่อสุขภาพซึ่งเป็นกระแสที่เกิดการตื่นตัวอย่างมากในปัจจุบัน โดยน้ำมันปาล์มแดงมีสารอาหารที่มีคุณค่าสูงมาก โดยเฉพาะสารเบตาแคโรทีนที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีค่าสูงกว่ามะเขือเทศ 300 เท่า และสูงกว่าแครอท 15 เท่า และยังมีวิตามินอี ไม่มีส่วนประกอบของไขมันทรานส์ ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ มีฤทธิ์ต้านการอักเสบของเซลล์ซึ่งการอักเสบนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดเนื้องอก
นอกเหนือจากการพัฒนาเป็นส่วนประกอบในอาหารแล้ว น้ำมันปาล์มแดงยังต่อยอดเป็นส่วนประกอบกลุ่มเวชสำอาง เครื่องประทินผิว ซึ่งจากผลการวิจัยฯ ในปี 2563 ได้ยกระดับการผลิตโรงบีบปาล์มชุมชนจากเกรดอาหารสัตว์เป็นเกรดเวชสำอาง และในปี 2566 ที่ผ่านมาผลิตน้ำมันปาล์มแดงธรรมชาติและต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นผลิตภัณฑ์หลากกลาย โดยมีโรงงานต้นแบบอยู่ที่วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมัน ท่าสะบ้า จ.ตรัง
ทั้งนี้ อาจกล่าวได้ว่าน้ำมันปาล์มแดงเป็นน้ำมันปาล์มพรีเมี่ยมที่ใช้เทคโนโลยีไมโครเวฟในกระบวนการผลิตทำให้มีต้นทุนต่ำ โรงงานที่ตั้งขึ้นใช้เงินลงทุนต่ำกว่า 10 ล้านบาทต่างจากการผลิตแบบดั้งเดิมที่หากเป็นโรงสกัดน้ำมันปาล์มต้องลงทุนกว่า 200 บาท หรือโรงกลั่นน้ำมันปาล์มก็ต้องลงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท อีกทั้งเหตุผลด้านราคาที่ค่อนข้างให้ผลตอบแทนที่สูง ทลายปาล์ม 100 กิโลกรม ผลิตน้ำมันปาล์มธรรมชาิตได้ 12 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 500 บาท และยังมีโอกาสเติมโตอีกมาก เพราะกระบวนการผลิตตอบโจทย์เรื่องสิ่งแวดล้อม โรงงานที่ผลิตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไม่มีน้ำเสียใช้พลังงานหมุนเวียนได้ ขั้นตอนไม่ซับซ้อน ไม่ใช้สารเคมี ซึ่งเป็นการสนับสนุนหลักการ BCG หรือเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนผ่านเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio-economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ที่มุ่งเน้นการพัฒนาแบบยั่งยืน
นางจันทร์เพ็ญ ชิดเชื้อ ประธานวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมัน หมู่ที่ 3 ตำบลท่าสะบ้า อำเภอวังวิเศษ จังหวัดตรัง กล่าวว่า จากวงจรของปัญหาราคาปาล์มน้ำมันที่ตกต่ำ ชาวสวนปาล์มประสบปัญหาผลปาล์มล้นตลาดจึงคิดพึ่งตนเองด้วยการรวมกลุ่มเป็นเกษตรแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมันและจดทะเบียนรูปแบบกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทำการผลิตน้ำมันปาล์มแดงธรรมชาติ เพื่อสื่อให้ทุกคนทราบว่าน้ำมันปาล์มธรรมชาติมีสีแดงบริโภคได้ เป็นของดีมีวิตามินเอและอีมาก สามารถยกระดับด้านราคาผลผลิตในอนาคต แก้ปัญหาราคาผลปาล์มตกต่ำได้ ซึ่งน้ำมันปาล์มธรรมชาติ (สีแดง) ควรบริโภคเพื่อเป็นอาหารเสริมสุขภาพ นำมาเป็นส่วนประกอบในอาหารแบบใช้ความร้อนต่ำ สามารถนำมาเป็นสารตั้งต้นผลิตเป็นสบู่ก้อน สบู่เหลว เจลนวดสมุนไพร เพราะวิตามินต่างๆ และสารเบต้าแคโรทีช่วยบำรุงผิว ลดริ้วรอยลดรอยเหี่ยวย่น ลดการอักเสบ โดยเฉพาะคนที่ผิวแห้ง ทางกลุ่มมุ่งเพิ่มมูลค่าของน้ำมันปาล์มธรรมชาติซึ่งมีสีแดงจึงเรียกกันว่าน้ำมันปาล์มแดงและกำลังพัฒนาต่อยอดจำหน่ายในเชิงพาณิชย์โดยได้ศึกษาดูงานต้นแบบจากมูลนิธิชัยพัฒนาและปัจจุบันได้เข้าร่วมกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ด้วยการนำเทคโนโลยีไมโครเวฟมาใช้ในการอบผลปาล์มช่วยลดระยะเวลาลงได้จำนวนมาก
โดยกระบวนการผลิตของกลุ่มเน้นการสกัดอย่างง่ายแบบธรรมชาติไม่ซับซ้อน เพื่อรักษาคุณภาพน้ำมันปาล์มธรรมชาติ และได้มาตรฐาน อย./GMP ซึ่งขณะนี้ยังวิจัยต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายยิ่งขึ้น เช่น ซอฟต์เจลผสมสมุนไพร การผลิตเจลลี่สำหรับคนสูงอายุ วิตามินสำหรับเด็ก มาการีนชีวภาพ ตลอดจนนำไปใช้ในการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง อาหารไก่ อาคารโค เป็นต้น สิ่งที่กลุ่มคาดหวังจะให้เกิดในอนาคตคือโรงงานน้ำมันปาล์มธรรมชาติต้นแบบเชิงพาณิชย์ในชุมชนโดยมีเครื่องมือขนาดที่เหมาะสมที่สกัดน้ำมันปาล์มแดงธรรมชาติที่ได้มาตรฐาน อย./GMP เพื่อผลิตน้ำมันบริโภคและเครื่องสำอาง เวชสำอางต่อไป
(3) ผลจากการมีส่วนร่วม
เกษตรกรผู้ปลูกปาล์ฒ ภาคประชาชน นักวิชาการ ผู้นำชุมชน ของในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดตรัง ที่เข้าร่วมกิจกรรมฯ ได้แสดงความคิดเห็นในส่วนของปริมาณการปลูกปาล์ฒและผลผลิตปาล์มในพื้นที่ รวมทั้งประโยชน์ที่เกษตรกรส่วนมากจะได้รับหากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเสนอการขยายระยะเวลาการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ ที่จะสิ้นสุดระยะเวลาในเดือนกันยายน 2567 รวมทั้ง วิสาหกิจชุมชนฯ ที่แปรรูปปาล์มได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่สำคัญโดยใช้ปาล์มเป็นวัตถุดิบ ซึ่งการผลิตน้ำมันปาล์มแดงธรรมชาติ เป็นการสร้างเศรษฐกิจชุมชนต่อยอดที่เป็นรูปธรรมไปสู่กลุ่มผู้ผลิตปาล์ม ทลายข้อจำกัดเรื่องผลผลิตล้นตลาด และยังชี้ให้เห็นทางออกของปาล์มน้ำมันที่มีศํกยภาพในการปรับตัวหากต้องยกเลิกการชดเชยของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
(4) การนำผลจากการมีส่วนร่วมไปปรับปรุงพัฒนาการดำเนินงานของหน่วยงาน
สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) จะรวบรวมประเด็นที่เกี่ยวข้อง เรื่อง น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ เพื่อเสนอคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) พิจารณา ต่อไปตามอำนาจหน้าที่ และเป็นไปตามกฏหมายที่เกี่ยวข้อง : พระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 ตามมาตรา 55 ในบทเฉพาะกาล กำหนดว่า ในกรณีที่มีการจ่ายเงินชดเชยให้แก่น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ
รายละเอียดเพิ่มเติม Link ->https://www.offo.or.th/th/node/1375
รายละเอียดเพิ่มเติม ไฟล์ .pdf สามารถดูได้จากเอกสารที่เกี่ยวข้อง