ในอดีต ประเทศไทยต้องนำเข้าน้ำมันมากถึงร้อยละ 90 ของการใช้ทั้งหมด รัฐบาลจึงมีนโยบายลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ โดยส่งเสริมให้มีการใช้เชื้อเพลิงในประเทศที่ผลิตจากพืชพลังงาน (เชื้อเพลิงชีวภาพ) ในปี 2544 เริ่มส่งเสริมให้มีการใช้เอทานอลผสมในน้ำมันเบนซิน เรียกว่าน้ำมันแก๊สโซฮอล แต่เนื่องจาก เอทานอลมีค่าความร้อนน้อยกว่าน้ำมันเบนซิน เมื่อนำไปผสมเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอลจะทำให้สิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงมากขึ้น ยิ่งผสมมากก็ทำให้สิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงมากขึ้น ดังนั้นจึงใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ไปชดเชยเพื่อให้ราคาถูกกว่าน้ำมันเบนซิน เพื่อเป็นการส่งเสริมให้คนมาใช้น้ำมันแก๊สโซฮอลมากขึ้น และมีการยกเว้นภาษีสรรพสามิตในส่วนของเอทานอลที่นำมาผสมในน้ำมันเบนซิน ซึ่งในช่วงแรกมีคนใช้น้ำมันแก๊สโซฮอลน้อย จึงใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงชดเชยให้ค่าการตลาดสูงกว่าน้ำมันเบนซิน  เพื่อเป็นการส่งเสริมการขาย จะเห็นได้ว่ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีการเก็บเงินเข้าของน้ำมันเบนซิน แต่ชดเชยให้กับน้ำมันแก๊สโซฮอลชนิดต่างๆ ในอัตราต่างๆกัน เพื่อส่งเสริมการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล

          สำหรับการส่งเสริมการใช้น้ำมันไบโอดีเซลก็เช่นเดียวกันใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปชดเชยหรือเก็บเข้ากองทุน รวมทั้งลดการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันบี 100 เพื่อให้น้ำมันไบโอดีเซลชนิดต่างๆ เช่น บี7 บี10 และ บี20 มีราคาที่แตกต่างกัน โดยราคาน้ำมันไบโอดีเซล บี 7 ถูกกว่า บี 10 และ บี 20 ถูกกว่า บี 10 เพื่อให้คนหันมาใช้น้ำมันไบโอดีเซลเหมือนกับน้ำมันแก๊สโซฮอล

          การส่งเสริมการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอลและน้ำมันไบโอดีเซล โดยใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง นอกจากจะเป็นการลดการนำเข้าน้ำมันดิบ ลดมลพิษและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นกลไกในการขายและพยุงราคาพืชผลการเกษตรด้วย เช่น  อ้อย มันสำปะหลัง และ ปาล์ม เป็นต้น ดังจะเห็นได้จากกรณีราคาปาล์มดิบตกต่ำ ก็จะมีการเพิ่มการใช้น้ำมันปาล์มผสมในดีเซลมากขึ้น เพิ่มอุปสงค์น้ำมันปาล์มในตลาด ทำให้ราคาปาล์มสูงขึ้น จะเห็นได้ว่ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นกลไกในการส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพที่ผลิตจากพืชพลังงาน รวมทั้งเป็นกลไกในการพยุงราคาพืชผลทางการเกษตรด้วย ดังนั้นเมื่อปริมาณการรับซื้อเอทานอล หรือไบโอดีเซล ที่ผลิตจากพืชผลทางการเกษตรมีความแน่นอน นั่นย่อมมีส่วนช่วยพยุงราคาสินค้า และทำให้ราคาสินค้าเกษตรมีเสถียรภาพมากขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเกี่ยวข้องกับการสร้างเสถียรภาพให้กับราคาสินค้าเกษตรได้อย่างไร

          นอกจากการพยุงราคาสินค้าเกษตรแล้ว กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เข้าไปดูแลชดเชยราคาก๊าซหุงต้มหรือ LPG ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา โดยตรึงราคาก๊าซหุงต้มไว้ไม่เกิน 363 บาท/ถัง 15 กิโลกรัม กระทั่งการระบาดของโควิด-19 ก็ได้ตรึงราคาไว้ที่ 318 บาท/ถัง 15 กิโลกรัม ตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบัน รวมเงินที่ใช้ตรึงราคาก๊าซหุงต้มกว่า 20,000 ล้านบาท ซึ่งผู้อ่านก็น่าจะมองภาพออกว่าหากไม่พยุงราคาก๊าซหุงต้มที่แพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มันจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างมากกว่าน้ำมันที่แพงขึ้นเสียอีก

          สำหรับมุมมองของผมเกี่ยวกับ บทบาท และความจำเป็นของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้ได้เห็นอีกมุมมองหนึ่งที่อาจจะต้องให้ความเป็นธรรม และความเข้าใจต่อกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้มากยิ่งขึ้น ในอดีต ในช่วงที่ราคาน้ำมันในตลาดสูงขึ้น นักเคลื่อนไหวที่เรียกตัวเองว่าภาคประชาชน สายพลังงาน มักจะเสนอรัฐบาลให้ยุบกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงโดยอ้างว่าราคาน้ำมันบ้านเราลอยตัวตามกลไกตลาดโลก รัฐบาลไม่ต้องเอาเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปตรึงราคาแล้วยุบทิ้งเลยจะทำให้ราคาน้ำมันถูกลงรวมทั้งในอดีตมีนักการเมืองบางพรรคได้หาเสียงกับประชาชนว่าจะลดราคาน้ำมันให้อย่างมาก หากยกเลิกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง แต่แล้วเมื่อมาบริหารประเทศก็ไม่ให้ยกเลิกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง แต่กลับใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการพยุงราคาน้ำมันจนติดลบหลายหมื่นล้านบาท

          แท้จริงแล้วผมมองว่า กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงคือเครื่องมือของรัฐที่จะช่วยลดผลกระทบต่อประชาชน ในยามที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น โดยใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาชดเชยราคาไว้ในช่วงระยะเวลานั้นๆ เมื่อราคาตลาดโลกลดลงที่เดิม เงินกองทุนที่เคยชดเชยไว้กลับคืนมาเป็นทุนไว้รับมือกับภาวะราคาน้ำมันแพงในรอบถัดไป

          คำถามต่อมาว่าถ้ายุบกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงแล้วการส่งเสริมน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ (เอทานอลและไบโอดีเซล) จะทำอย่างไร เพราะว่าต้นทุนราคาเอทานอลและไบโอดีเซล สูงกว่าราคาน้ำมันแต่มีค่าความร้อนน้อยกว่า (สิ้นเปลืองน้ำมันมากกว่า)  เมื่อผสมในอัตราสูงขึ้นแล้วจะมีใครใช้น้ำมันแก๊สโซฮอลและน้ำมันไบโอดีเซล

          จากประโยชน์ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงดังกล่าวมาข้างต้น หากจะยุบกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง  ผู้ที่เสนอให้ยุบจะต้องตอบให้ได้ก่อนว่าจะมีมาตรการหรือเครื่องมืออะไร มาช่วยรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันในประเทศในช่วงที่ราคาน้ำมันสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และส่งเสริมการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอลและน้ำมันไบโอดีเซล มีเครื่องมืออะไรในการแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรตกต่ำ หากสามารถตอบได้ก็สามารถยุบกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้เลยไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป อย่างไรก็ตาม ผมเห็นว่ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังมีความจำเป็นอยู่ โดยใช้เป็นเครื่องมือในการรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในระยะสั้น ๆ เพื่อให้ประชาชนมีเวลาในการปรับตัว แต่ผู้ใช้จะต้องมีวินัยในการใช้เงินตามกรอบวงเงินที่กำหนดไว้ในกฎหมายฉบับใหม่ คือไม่เกิน 40,000 ล้านบาท หากใกล้ที่จะเกินเพดานแล้วจะต้องค่อย ๆ ลดการชดเชย ปล่อยให้เป็นไปตามกฎในตลาด

          คราวหน้าผมจะมาเล่าให้ฟังถึงการทบทวน และการปรับปรุงกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้มีสถานะ บทบาท ภารกิจ และกลไกการตรวจสอบความโปร่งใสในการบริหารจัดการให้มีความเข้าใจที่ชัดเจนยิ่งขึ้นครับ

                                                                                                                                        นายวีระพล จิรประดิษฐกุล

ภาพประกอบ
  • เล่าเรื่องพลังงาน ตอน 2